7 ข้อควรรู้ ก่อนกู้ร่วมสินเชื่อบ้านสำหรับคู่รัก LGBTQ
28 Jun 2021การกู้ร่วมสินเชื่อบ้าน คือสิทธิ์ที่กลุ่ม LGBTQ (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, Queer) ต่างก็มีความใฝ่ฝันต้องการจะได้มาเช่นเดียวกับคู่รักอื่นๆ เพื่อสร้างรากฐานชีวิตและวาดอนาคตร่วมกันกับคนรักได้อย่างไร้ขีดจำกัดทางเพศ ถึงแม้ว่า “พรบ.คู่ชีวิต” ยังเป็นประเด็นที่ต้องใช้เวลาหาข้อสรุป ทำให้ในปัจจุบัน บุคคลที่จะกู้ร่วมกันได้ยังจะต้องเป็นบุคคลในครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเดียวกัน หรือที่กฎหมายรับรอง เช่น พ่อ แม่ ลูก พี่น้อง สามี-ภรรยาเท่านั้น แต่ข่าวดีก็คือโลกในยุคปัจจุบันเปิดกว้างมากสำหรับคู่รัก LGBTQ รวมไปถึงธนาคารต่างๆ เองต่างก็เปิดรับการยื่นกู้สินเชื่อบ้านของกลุ่ม LGBTQ มากขึ้น และยังมีโปรโมชันพิเศษให้อีกด้วย
และในเดือนมิถุนายนที่ถือเป็น Pride Month หรือเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ เช่นนี้ แกรนด์ ยูนิตี้ มีรายละเอียดดีๆ เกี่ยวกับการกู้ร่วมมาฝากทุกคู่รักกัน จะต้องเตรียมตัวอย่างไร ให้การกู้ร่วมของคุณทั้งสองคนไม่สะดุด 7 ข้อนี้คือคำตอบ!
1. ตรวจสอบรายชื่อธนาคารที่ให้กู้สินเชื่อบ้านสำหรับคู่รัก LGBTQ
ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีหลายธนาคารที่เปิดให้คู่รัก LGBTQ สามารถกู้ร่วมสินเชื่อบ้านได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกธนาคาร เพราะมักติดในเรื่องของหลักฐานแสดงความเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย หรือบางธนาคารเปิดให้กู้สินเชื่อได้ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารยูโอบี ธนาคารออมสิน ธนาคารธนชาต และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ฯลฯ แต่บางแห่งก็อาจมีเงื่อนไขพิเศษแตกต่างกันไป หรือบางแห่งก็อาจสงวนสิทธิ์เฉพาะลูกค้าอสังหาริมทรัพย์บางโครงการเท่านั้น เป็นต้น ดังนั้นจึงควรตรวจสอบธนาคารที่เปิดให้ คู่รัก LGBTQ สามารถกู้ร่วมได้โดยละเอียด และศึกษาเงื่อนไขต่างๆ ในการกู้สินเชื่อบ้านก่อน
2. เตรียมความพร้อมของสถานะทางการเงินก่อนยื่นกู้สินเชื่อบ้าน
ปัจจัยสำคัญหนึ่งของการยื่นกู้ร่วมสินเชื่อบ้านก็คือฐานะทางการเงิน หลายธนาคารจึงมักระบุถึงคุณสมบัติถึงสะท้อนความพร้อมทางการเงินของผู้กู้ร่วมเอาไว้ด้วย เช่น
- มีอาชีพการงานที่มั่นคง ทำงานในบริษัทที่สามารถตรวจสอบได้
- กรณีเป็นพนักงานประจำ ต้องมีอายุงาน 1 ปีขึ้นไป และมีเงินเดือนอยู่ในระดับขั้นต่อที่ธนาคารกำหนด
- ในกรณีที่ผู้กู้ร่วมเป็นเจ้าของกิจการ ก็จะต้องมีการจดทะเบียนการค้า หรือหนังสือรับรองบริษัท อายุงาน 2 ปีขึ้นไป
- ไม่มีประวัติเสียหายทางการเงิน ไม่ติดเครดิตบูโร เป็นต้น
นอกจากนี้ธนาคารยังพิจารณาอนุมัติวงเงินกู้สินเชื่อบ้านสำหรับคู่รัก LGBTQ โดยดูจาก เงินเดือนหรือรายรับ/ภาระหนี้ และอายุขั้นต่ำ อีกด้วย ดังนั้นหากคุณวางแผนทางการเงินเอาไว้แต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยให้การเดินเรื่องขอยื่นกู้สินเชื่อง่ายขึ้นแน่นอน
3. รวมรวมหลักฐานแสดงสถานะความเป็นคู่รัก
สำหรับคู่รัก LGBTQ สามารถยื่นเอกสารหรือหลักฐานอื่นๆ ทดแทนการยื่นทะเบียนสมรสได้ คือเอกสารหรือหลักฐานแสดงความสัมพันธ์หรือการอยู่ร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี ตามที่ธนาคารกำหนด เช่น
- ทะเบียนบ้านที่อยู่ด้วยกัน
- บัญชีเงินฝากที่เปิดร่วมกัน
- เอกสารแสดงการกู้ร่วมซื้อรถยนต์ร่วมกัน (หากมี)
- สลิปการเติมน้ำมันให้กับรถยนต์ที่ระบุชื่อคู่รักเป็นเจ้าของ
- เอกสารที่มีการเซ็นรับรองว่าอยู่ร่วมกัน
- รูปภาพที่ยืนยันว่าเป็นคู่รักกันจริงๆ เช่น รูปแต่งงาน
- เอกสารอื่นๆ ที่ยืนยันว่าทำธุรกิจร่วมกัน
นอกจากนี้ยังต้องระบุในใบสมัครกู้สินเชื่อบ้านให้ชัดเจนด้วยว่า ผู้กู้ร่วมมีความสัมพันธ์เป็น “คู่รัก” กับผู้กู้หลัก เป็นต้น ดังนั้นการมีสิ่งเหล่านี้เตรียมพร้อมไว้ ก็จะช่วยให้คุณยื่นกู้สินเชื่อบ้านได้ง่ายกว่าการมีสถานะเป็นแฟนกันธรรมดานั่นเอง
4. เตรียมเอกสารที่ใช้ในการขอกู้สินเชื่อบ้าน สำหรับคู่รัก LGBTQ
เอกสารส่วนตัว
เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล
เอกสารทางการเงิน
เช่น หนังสือรับรองเงินเดือน สลิปเงินเดือน บัญชีเงินฝากธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน
เอกสารหลักทรัพย์
เช่น สำเนาโฉนดที่ดิน สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย และแบบแปลนการก่อสร้าง (กรณีปลูกสร้าง)
เอกสารอื่นๆ
แล้วแต่ธนาคารจะระบุเพิ่มเติม
5. เปรียบเทียบข้อเสนอและโปรโมชันสินเชื่อบ้านก่อนตัดสินใจ
เมื่อคุณตัดสินใจเลือกสถานที่สร้างอนาคตกับคนที่ใช่แล้ว อันดับต่อไปก็คือการรวบรวมเอกสารทั้งหมดแล้วคุยกับธนาคารอีกครั้ง ซึ่งธนาคารบางแห่งอาจจะมีข้อเสนอพิเศษให้กับลูกค้าบางโครงการ หรือบางแห่งก็อาจมีโปรโมชันพิเศษสำหรับคู่รัก LGBTQ โดยเฉพาะ ยิ่งหากคุณมีโครงการในใจอยู่หลายที่ ข้อมูลโปรโมชันเหล่านี้ก็จะช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกได้ง่ายขึ้น
6. ศึกษาแผนสำรองอื่นๆ สำหรับการยื่นกู้สินเชื่อ
นอกจากการยื่นกู้ร่วมสินเชื่อบ้านที่กล่าวมาแล้ว บางธนาคารยังมีทางเลือกอื่นด้วย เช่น การขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจหรือ SME ซึ่งการขอสินเชื่อประเภทนี้ จะทำให้คู่รัก LGBTQ สามารถขอสินเชื่อเพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวรเพื่อประกอบกิจการได้ เช่น ซื้อสถานประกอบการพร้อมที่ดิน หรือซื้อที่ดินเปล่าเพื่อใช้ดำเนินกิจการ เป็นต้น ถือเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคู่รัก LGBTQ ที่ทำธุรกิจร่วมกัน
7. เตรียมทางออกเพื่อรับมือในวันที่คู่รักกลายเป็นอดีต
เพราะเรื่องไม่แน่นอนในชีวิตนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ หากคุณและคู่รักไม่สามารถผ่อนด้วยกันต่อไปได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็จำเป็นต้องคิดถึงทางออกเผื่อไว้ล่วงหน้า เพราะการกู้ร่วมของคู่รัก LGBTQ นั้น ธนาคารมักระบุให้ระบุชื่อผู้กู้ทั้ง 2 คนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน จึงต้องมีภาระผูกพันทางกฎหมายอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการเตรียมทางออกไว้ก่อนจะช่วยให้คุณมีสภาพคล่องทางการเงินต่อไปได้ แม้ในวันที่ความรักไม่ได้ไปต่อ
ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการผ่อนต่อคนเดียว
จะต้องให้ผู้กู้ร่วมอีกฝ่ายเซ็นยินยอม และผู้ที่กู้ต่อจะต้องผ่านการประเมินจากธนาคาร หากผ่านทุกข้อก็จะสามารถผ่อนต่อคนเดียวได้ และจะได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวเมื่อผ่อนครบ แต่หากไม่ผ่านการประเมินก็จะต้องทำการรีไฟแนนซ์โดยเปลี่ยนชื่อผู้กู้ร่วมให้เป็นชื่อคนในครอบครัวแทน
ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผ่อนต่อคนเดียวจนหมดโดยไม่ได้รีไฟแนนซ์
หากไม่สามารถหาผู้กู้ร่วมคนอื่นมาทดแทนได้ เมื่อผ่อนจนครบกำหนดแล้วกรรมสิทธิ์จะกลายเป็นของทั้ง 2 คนที่กู้ร่วมกันแต่แรก ซึ่งมักเกิดปัญหาตกลงกันไม่ได้ ในกรณีนี้ผู้ที่ผ่อนต่อจนหมดสามารถจ้างทนายฟ้องร้องถอนชื่ออีกฝ่ายออกได้ตามกฎหมาย
ไม่สามารถผ่อนต่อได้ทั้งคู่ หรือไม่ต้องการเก็บสินทรัพย์นั้นไว้
ทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ การขายทรัพย์สินนั้นทิ้งไป โดยจะต้องมีการเซ็นยินยอมจากผู้กู้ร่วมทั้งคู่ จึงจะสามารถดำเนินการได้
ประกันความเสี่ยงสินเชื่อบ้าน
อีกทางออกที่ช่วยลดปัญหาในอนาคตได้ก็คือ การการสมัครประกันคุ้มครองสินเชื่อ MRTA เพราะหากไม่สามารถผ่อนต่อไหว บริษัทประกันก็จะช่วยจ่ายเงินกู้ที่ค้างให้กับคุณ และหากเหลือส่วนต่างก็สามารถมอบให้ผู้รับผลประโยชน์ที่ระบุไว้ตอนทำประกันได้ โดยสามารถทำประกันได้ทั้งคู่หรือทำแค่คนใดคนหนึ่งก็ได้ ซึ่งเบี้ยประกันในส่วนนี้ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
หวังว่าข้อมูลทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคู่รัก LGBTQ และช่วยให้คุณทั้งสองคนมีบ้านหรือคอนโดไว้เริ่มต้นชีวิตคู่ที่มั่นคงและ happy ending ในแบบที่ฝันไว้
แกรนด์ ยูนิตี้ เรามุ่งมั่นที่จะตอบทุกเหตุผลของการใช้ชีวิต เพื่อให้คุณได้ #ใช้ชีวิตบนเหตุผลของคุณ.