ใช้ชีวิตเฮลท์ตี้! ปลูกผักสลัดง่ายๆ ทานเองที่คอนโด
16 Feb 2021ถึงจะมีพื้นที่ในคอนโดจำกัด ก็สามารถปลูกผักสลัดไว้ทานเองได้ สำหรับคนรักสุขภาพแล้ว คงดีสุดๆ ไปเลยหากคุณมีแผงผักสลัดส่วนตัวที่คอนโดให้เด็ดทานได้ทุกวัน โดยไม่ต้องไปจ่ายตลาด ไม่ต้องแช่ตู้เย็น แถมยังประหยัดเงินในกระเป๋าอีกด้วย หากใครยังไม่เคยปลูกผักสลัดทานเองมาก่อน ลองมาทำตาม วิธีปลูกผักสลัดง่ายๆ ต่อไปนี้กันเลยครับ
ผักสลัดมีกี่ชนิด ปลูกอะไรดี
ผักสลัดมีมากมายหลากหลายพันธุ์ ที่นิยมปลูกและทานกันในบ้านเรา รวมถึงสามารถปลูกได้ไม่ยากในคอนโดด้วย ได้แก่
1. ผักสลัดกรีนโอ๊ค (Green Oak Lettuce)และเรดโอ๊ค (Red Oak)
รสชาติหวานกรอบ มีประโยชน์ช่วยสร้างเม็ดเลือด บำรุงระบบประสาท เส้นผม สายตา และกล้ามเนื้อ ระยะเก็บเกี่ยว 40-45 วัน
2. ผักสลัดกรีนคอส (Green Cos)
รสชาติหวานเล็กน้อย และโดดเด่นที่ความกรอบ นิยมนำไปทำซีซาร์สลัด และเมนูสลัดอื่นๆ เพราะโดนน้ำสลัดแล้วไม่นิ่มง่าย คงความสดกรอบได้นาน มีวิตามินซีและธาตุเหล็กสูง ระยะเก็บเกี่ยว 40-60 วัน
3. ผักสลัดผักกาดแก้ว (Iceberg Lettuce)
รสชาติกรอบอร่อย ดีสำหรับคนที่คุมน้ำหนักหรือผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เพราะมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ และช่วยกระตุ้นระบบขับถ่ายได้เป็นอย่างดี ระยะเก็บเกี่ยว 40-60 วัน
4. ผักสลัดบัตเตอร์เฮด (Butter Head)
ลักษณะคล้ายผักกาดแก้ว แต่มีความอ่อนนุ่มกว่า ทานง่าย รสมัน ไม่ขม มีสารอาหารมากมาย ช่วยบำรุงระบบประสาท บำรุงสายตา และช่วยลดคอเรสเตอรอลได้อีกด้วย ระยะเก็บเกี่ยว 45-55 วัน
5. ผักสลัดร็อคเก็ต (Rocket)
เป็นหนึ่งในผักสลัดยอดนิยม เพราะรสชาติอร่อย มีวิตามินสูง ทั้งวิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี และวิตามินอี และยังดีต่อระบบขับถ่ายอีกด้วยครับ ระยะเก็บเกี่ยว 40-50 วัน
6. ผักสลัดกรีนคอรัล (Green Leaf Lettuce) และเรดคอรัล (Red Leaf Lettuce)
หรือผักกาดหอมใบเขียว และใบแดง มีรสกรอบและหวานกว่าผักกาดหอมทั่วไป อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ โฟเลต และวิตามินเอ ระยะเก็บเกี่ยว 45-55 วัน
7. ผักสลัดมิซูน่า (Mizuna) หรือผักน้ำญี่ปุ่น
มีรสชาติกรอบทั้งใบและก้าน เหมาะกับเมนูอาหารญี่ปุ่นและอาหารไทยรสจัด สามารถทานได้ทั้งแบบสดและปรุงสุก ระยะเก็บเกี่ยว 30-35 วัน
วิธีปลูกผักสลัดในคอนโด ต้องเตรียมอะไรบ้าง
สำหรับการปลูกผักสลัดในคอนโด จะเน้นที่การประหยัดพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งแบ่งออกเป็นสองวิธีหลักๆ ด้วยกันคือ การปลูกผักสลัดในกระถาง และการปลูกผักสลัดในน้ำ มาดูขั้นตอนของแต่ละวิธีกันเลยครับ
วิธีปลูกผักสลัดในกระถาง สำหรับคอนโดพื้นที่น้อย
ข้อดีสำหรับการปลูกผักสลัดในกระถางก็คือ ประหยัดพื้นที่ และเคลื่อนย้ายสะดวก เหมาะกับชาวคอนโดมากเลยทีเดียวล่ะครับ
อุปกรณ์สำหรับปลูกผักสลัดในกระถาง ต้องเตรียมอะไรบ้าง
- เตรียมดินร่วนที่มีอินทรียวัตถุสมบูรณ์ และย่อยสลายดีแล้ว มีค่าความเป็นกรดด่างระหว่าง 6-6.5 หากจะผสมขุยมะพร้าว ควรใช้ขุยมะพร้าวที่แช่น้ำล้างสารแทนนินออกแล้ว (สังเกตดูน้ำจะไม่มีสีแดง)
- เตรียมภาชนะปลูก หากปลูกผักสลัดที่ใบมีลักษณะห่อ ควรใช้กระถางเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้วขึ้นไป ซึ่งมีให้เลือกหลากหลาย รวมถึงแบบแขวน และแบบแนวตั้ง ที่ทำให้ปลูกได้มากขึ้นแต่ประหยัดพื้นที่ในคอนโด
- เมล็ดพันธุ์ผักสลัด
- กระบอกฉีดน้ำ (ฟอกกี้)
- สแลนสำหรับพรางแสงในกรณีที่มีแดดจัดเกินไป
- ถาดเพาะ หรืออุปกรณ์สำหรับเพาะเมล็ดอื่นๆ
- พีทมอส สำหรับเพาะเมล็ด หากไม่มีสามารถใช้ดินร่วนแทนได้ โดยร่อนดินก้อนใหญ่ๆ ออกไปก่อน
ขั้นตอนการปลูกผักสลัดในกระถาง
- นำดินหรือพีทมอสใส่ในถาดเพาะ ใส่เมล็ดลงไป โรยดินหรือพีทมอสทับบางๆ
- ใช้ฟอกกี้ฉีดน้ำให้ชุ่มตั้งไว้ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก และหมั่นฉีดฟอกกี้เช้าเย็น
- เมื่อเมล็ดเริ่มงอก ให้นำออกรับแดดอ่อนๆ ช่วงเช้าที่ริมหน้าต่างหรือระเบียงคอนโดทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นยืด ทรงผักสลัดจะสวยและลำต้นแข็งแรง หากแดดที่คอนโดแรงมากให้พรางแสงด้วยสแลน
- เมื่อต้นอ่อนโตแข็งแรงและงอกใบแท้แล้ว ให้คัดต้นที่แข็งแรงลงปลูกในกระถางได้เลย
- หมั่นรดน้ำให้ชุ่มพอดี ไม่แฉะเกินไป ระวังอย่าให้ใบผักสลัดโดนฝนโดยตรง และใส่ปุ๋ยอย่างเหมาะสม
วิธีปลูกผักสลัดในน้ำ สำหรับคอนโดพื้นที่น้อย
แต่หากใครไม่อยากวุ่นวายกับการเตรียมดินหรือการรดน้ำ การปลูกผักสลัดในน้ำหรือปลูกผักสลัดแบบไฮโดรโปนิกส์ ก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจทีเดียวครับ
อุปกรณ์สำหรับปลูกผักสลัดในน้ำ
- ขวดน้ำพลาสติกที่ไม่ใช้แล้ว หรือลังโฟมเหลือใช้
- กระบอกฉีดน้ำ (ฟอกกี้)
- กระดาษทิชชู่ สำหรับเพาะต้นกล้า
- ฟองน้ำ ใช้แทนดินปลูก
- สารละลายธาตุอาหาร A และ B (A & B Hydroponics)
ขั้นตอนการปลูกผักสลัดในน้ำ
- ตัดขวดออกประมาณ 3 ส่วน 4 (นับจากก้นขวด) จะได้ขวดสองส่วน
- คว่ำส่วนคอขวดลงไปในขวดส่วนก้น จะได้ภาชนะปลูกทรงกรวยสำหรับปลูก หากใช้ลังโฟม ก็ใช้เพียงส่วนคอขวด โดยเจาะรูที่ฝาลังโฟมให้สามารถใส่ส่วนคอขวดได้พอดี
- นำกระดาษทิชชูวางในภาชนะก้นทึบ ฉีดน้ำให้ชุ่ม และวางเมล็ดพันธุ์ผักสลัดลงไป
- เมื่อเมล็ดผักสลัดเริ่มงอกรากออกมา ให้ตัดฟองน้ำเป็นสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ขนาดใหญ่กว่าคอขวดที่เราเตรียมไว้เล็กน้อย เอามีดหรือกรรไกรทำรอยบากที่ด้านบนให้เป็นร่อง
- นำเมล็ดพันธุ์ผักสลัดใส่ลงในร่องฟองน้ำ แล้วใส่ฟองน้ำลงในภาชนะก้นทึบ ใส่น้ำลงไปให้ฟองน้ำชุ่มชื้นตลอดเวลา อย่าปล่อยให้แห้ง
- ประมาณ 1 อาทิตย์ ผักสลัดจะเริ่มมีใบเลี้ยงและรากแก้วทะลุฟองน้ำออกมา ให้ย้ายฟองน้ำไปใส่ในปากขวดที่เตรียมไว้ ส่วนก้นขวดใส่น้ำลงไปให้สูงชิดฟองน้ำ เพื่อให้ผักสลัดสามารถดูดน้ำได้
- ใส่สารละลายธาตุอาหาร A และ B ที่ผสมในอัตราส่วนที่เหมาะสม (ดูที่ฉลากแต่ละยี่ห้อ) ลงในน้ำ เพื่อให้ผักสลัดเติบโตเร็วและสมบูรณ์
ปลูกผักสลัดแล้วมีรสขม ทำอย่างไรดี
หลายคนปลูกผักสลัดแล้วมีรสขม ไม่อร่อยเหมือนซื้อทาน ปัญหานี้ไม่ยากเลยครับ ลองมาดูสาเหตุพร้อมวิธีแก้ไขกันเลย
1. เก็บผักสลัดในระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม
ผักสลัดแต่ละชนิดมีระยะเก็บเกี่ยวต่างกันไป หากเกินจากนั้นแล้วก็จะมีรสขมได้ ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนผักสลัดแก่เกินไป
2. เก็บผักสลัดตอนเช้า
เพราะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นในช่วงสายหรือบ่าย ผักสลัดจะผลิตยางออกมาชดเชยการคายน้ำ ทำให้มีรสขมขึ้น จึงควรเด็ดผักสลัดทานในช่วงเช้าหรือเย็นหลังพระอาทิตย์ตกดินไปแล้วจะดีที่สุด
3. ปลูกผักสลัดในที่ๆ อากาศไม่ร้อนเกินไป
เพราะนอกจากอากาศร้อนจะทำให้ผักสลัดผลิตยางขมๆ ออกมามากแล้ว สำหรับคนที่ปลูกผักสลัดในน้ำก็มักเจอปัญหาสภาวะอุณหภูมิสารละลายสูง ทำให้ผักร้อนเกินไปและยิ่งผลิตยางออกมามากขึ้น ดังนั้นพื้นที่ปลูกที่ดีควรจะมีอากาศไหลเวียนสะดวก ไม่ร้อนอบอ้าวหรือแดดจัดเกินไป ดีที่สุดคือได้รับแดดช่วงเช้า 3-4 ชั่วโมง ก็เพียงพอต่อการเติบโตของผักสลัด และไม่ทำให้ผักสลัดมีรสขม แต่หากคอนโดของคุณอยู่ในทิศที่มีแดดจัด ก็ควรหาสแลนมาพรางแสงแดดเอาไว้ และใส่ใจรดน้ำให้เหมาะสมอย่าได้ขาด ก็จะช่วยลดปัญหาผักสลัดมีรสขมได้ครับ
ไม่ยากเลยใช่ไหมครับ ถูกใจวิธีไหนก็เลือกตามสไตล์ของคุณ แล้วลองนำไปทำตามกันดู อีกไม่นานเกินรอก็จะได้ผักสลัดอร่อยๆ ไว้ทานกันแน่นอนครับ
คลิกดูบทความเพิ่มเติม
แกรนด์ ยูนิตี้ เรามุ่งมั่นที่จะตอบทุกเหตุผลของการใช้ชีวิต เพื่อให้คุณได้ #ใช้ชีวิตบนเหตุผลของคุณ.