โยคะส่งเสริมกายและใจ ลดปัญหาสุขภาพปวดเมื่อยอาการเรื้อรัง
03 Mar 2022หลายคนมักมีอาการปวดคอบ่าไหล่ ปวดช่วงหลังและบั้นเอว สาเหตุเนื่องมาจากพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต ได้แก่ การนั่งทำงานในท่าเดิมนานๆ การก้มคอดูโทรศัพท์ การสะพายกระเป๋าหนักๆ ซึ่งการฝึกโยคะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้
ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นที่มักจะมาจากพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต ได้แก่ การนั่งทำงานในท่าเดิมนานๆ การก้มคอดูโทรศัพท์ การสะพายกระเป๋าหนักๆ หรือการจ้องมองคอมพิวเตอร์ในระยะเวลานาน ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อสุขภาพทั้งสิ้น ดังนั้น อาการปวดบั้นเอว ปวดคอ ไหล่เอียง สะบักจม ล้าสายตาจึงตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วการแก้ไขอาการเหล่านี้ต้องทำอย่างไร นี่เป็นคำถามที่พบได้บ่อยมากของผู้ที่มีปัญหา บางคนมีอาการเรื้อรังถึงขั้นต้องพึ่งการนวดแผนโบราณและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
บทความนี้จึงขอกล่าวถึง "โยคะ" ซึ่งเป็นวิถีสุขภาพรูปแบบหนึ่งในการฝึกสมาธิ การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ช่วยส่งเสริมความแข็งแรงของร่างกาย และลดปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่มาจากพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต การฝึกโยคะอาจจะดูไม่น่าสนใจสำหรับบางคน อาจเป็นเพราะเคลื่อนไหวท่าอย่างช้าๆ การค้างท่านาน ทำให้การฝึกโยคะไม่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้รักการเล่นกีฬา ที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายอย่างรวดเร็ว แต่จริงๆ แล้ว การฝึกโยคะเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายตามจังหวะลมหายใจ ควบคู่ไปกับการทำสมาธิ ในจังหวะที่เข้าท่าโยคะจะมีการควบคุมลมหายใจ เช่น ขณะยืนตัวตรงและกำลังเหยียดแขนขึ้น ให้หายใจเข้า เมื่อวางแขนข้างลำตัวให้หายใจออก เป็นต้น หรือ กล่าวอย่างง่ายๆ คือ การเคลื่อนไหว 1 จังหวะ จะมีการหายใจ 1 ครั้ง จะหายใจเข้าหรือหายใจออกขึ้นอยู่กับจังหวะการเคลื่อนไหวของท่าโยคะที่กำลังฝึกอยู่ โดยผู้ฝึกต้องหายใจเข้าลึก หายใจออกยาว หายใจแบบผ่อนคลาย ไม่ควรหายใจสั้น หรือเค้นลมหายใจ
สำหรับผู้ฝึกใหม่ เพียงแค่อ่าน อาจจะรู้สึกยาก แต่หากผู้ฝึกค่อยๆ ปรับการหายใจ และปรับร่างกายไปทีละน้อย จิตใจของเราจะมีความเคยชิน และสั่งร่างกายโดยอัตโนมัติ ซึ่งไม่เพียงแค่การเคลื่อนไหวร่างกาย และการหายใจเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทางด้านลักษณะนิสัยใจคอและพฤติกรรมอื่นๆ อีกด้วย เช่น ผู้ฝึกโยคะจะใจเย็นขึ้น สุขุมรอบคอบมากขึ้น คิดอย่างมีระบบมากขึ้น ใช้ชีวิตอย่างมีสติมากขึ้น รวมทั้งจะมีความรู้สึกรักสุขภาพมากขึ้น เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ทานผักผลไม้มากขึ้น ทานอาหารไขมันสูงน้อยลง ทานอาหารที่มีรสหวานจัด รสเค็มจัดน้อยลง หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เป็นต้น
นอกจากนี้ การฝึกโยคะยังเป็นการพัฒนาจิตใจอีกด้วย ขณะฝึกโยคะ จิตต้องอยู่กับกาย รู้ตัวอยู่เสมอว่า ผู้ฝึกกำลังทำท่าทางอะไร กำลังอยู่ในอิริยาบทใด จิตของผู้ฝึกจะเห็นสภาวะต่างๆ ของร่างกาย และเกิดการตระหนักรู้ในสภาวะที่เป็นอยู่ เช่น จิตรู้ว่ากายกำลังนั่งในอิริยาบทใด นั่งหลังตรงหรือนั่งหลังค่อม สภาวะของการรู้ตัวแบบนี้ ถ้าผู้ฝึกสามารถปรับท่านั่งของตนเองได้จะสามารถลดปัญหาสุขภาพได้ทางหนึ่ง เป็นต้น รวมทั้งรู้สภาวะที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป เช่น ผู้ฝึกจะรู้ว่า ในท่ายืนกางขา หากผู้ฝึกกางขามากเกินไปแล้วรู้สึกตึงที่กล้ามเนื้อไม่สบายตัว ผู้ฝึกก็จะปรับตำแหน่งการวางขาให้แคบเข้ามาเอง เพื่อหาสมดุลย์ในการฝึก หรือขณะทำท่านั่งบิดลำตัว
หากผู้ฝึกบิดลำตัวน้อยเกินไปจะไม่รู้สึกถึงการใช้กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว ไหล่และสะบัก ผู้ฝึกที่สามารถเชื่อมจิตกับกายจะตระหนักรู้ในตัวเองและปรับการบิดลำตัวให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มองศาการบิดลำตัว เป็นต้น อาจจะเรียกได้ว่า เป็นการหาจุดสมดุลย์ของการฝึก ที่ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป สภาวะแบบนี้ ผู้ฝึกเองเท่านั้นที่จะรู้ และแต่ละคนก็จะรู้สึกแตกต่างกันตามแต่สภาพจิตใจและร่างกายของตนเอง หากผู้ฝึกสามารถเชื่อมโยงจิตใจกับร่างกายได้อย่างเชี่ยวชาญแล้ว จะสามารถยกระดับไปสู่การทำสมาธิได้ ซึ่งจุดนี้อาจต้องค่อยเป็นค่อยไปและใช้เวลาสักพัก แต่ก็ไม่ยากเกินไปสำหรับผู้ตั้งใจฝึก
ผลของการฝึกโยคะอย่างต่อเนื่องและถูกต้องตามหลักการ สามารถพัฒนาจิตใจและร่างกายได้เป็นอย่างดี ผู้ฝึกจะรู้สึกได้ด้วยตนเองว่า สุขภาพโดยรวมดีขึ้น โรคและอาการต่างๆ ลดลง ไม่ว่าจะเป็น โรคหวัด โรคภูมิแพ้ อาการนอนไม่หลับ อาการเครียด ปวดเอว ปวดไหล่ ปวดหลัง ปวดขา นานาปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมที่ทำจนเคยชิน นอกจากนี้คนรอบข้างจะรู้สึกว่า ผู้ฝึกเปลี่ยนแปลงนิสัยใจคอไปในทางที่ดีขึ้นเหมือนกับเป็นคนใหม่อีกด้วย